งานกราบนมัสการ หลวงปู่ทองมา ถาวโร

งานกราบนมัสการ หลวงปู่ทองมา ถาวโร
งานประเพณีกราบนมัสการ หลวงปู่ทองมา ถาวโร

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตำนานพระธาตุอุปมง กับหลวงปู่ทองมา ถาวโร



ตำนานพระธาตุอุปมง กับหลวงปู่ทองมา ถาวโร

วัดป่าวัดธาตุอุปมุง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านสร้างบุ ต.โพธิ์ศรีสว่าง อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด โดยวัดป่าวัดธาตุอุปมุงห่างจากหมู่บ้านสร้างบุ ประมาณ ๕oo เมตร เป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีอายุประมาณหลายร้อยปี 

แรกเริ่มเดิมทีพระธาตุแห่งนี้จะนำไปบรรจุไว้ที่พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม แต่เนื่องจากการเดินทางในสมัยนั้นค่อนข้างจะลำบาก อย่างยิ่ง อีกทั้งทุรกันดาร ค่ำไหนนอนนั้น ข้ามป่าข้ามเขา กว่าจะถึงที่หมายต้องใช้การเดินทางเป็นเวลานาน เมื่อมาถึงสถานที่แห่งนี้(บ้านสร้างบุ) คณะเดินทางก็ได้ทราบข่าวจากทางนครพนมว่า พระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้วจึงได้ซ่อนพระธาตุไว้ในป่าแห่งนี้ ซึ่งเป็นป่ารกทึบ คำว่า “อุปมุง” มีที่มาว่า เมื่อก่อนเพระธาตุเป็นแค่ “อูป” (มีลักษณะคล้ายเตาถ่าน) ในสมัยนั้นสถานที่แห่งนี้เป็นป่าดงดิบไม่ค่อยมีคนหรือสัตว์เลี้ยงเข้าไป เพราะมันน่ากลัวมากคนแก่คนเฒ่าเล่าว่า ถ้าหากว่ามีสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นช้างม้าวัวควายเข้าไปในเขตสถานที่นี้ แล้วจะชักตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เล่ากันว่าในดงแห่งนี้มี “เม่ง” (เม่งเป็นสัตว์คล้ายงูจงอางแต่ตัวใหญ่มาก) ในคืนวันพระพระจันทร์เต็มดวงจะมีเสียงกังวานมากภายในป่าแห่งนี้และมีเสียงร้องดังเหมือนเสียงของงูจงอางหรือแมงง่วง (จักจั่นใหญ่) ถ้าหากในวันพระวันใดได้ยินเสียงร้องของตัวเม่งจะมีคนนอนตายโดยไม่ทราบสาเหตุในคืนนั้น ทำให้ไม่มีใครเข้าไปในป่าแห่งนั้น ต่อมามีผู้พบเห็นพระธาตุอุปมุงเป็นคนแรกคือ หลวงปู่สิงห์ทอง(หรือหลวงปู่สิงห์) เล่าว่า หลวงปู่ท่านเป็นพระธรรมยุติ เดินธุดงค์ มาปักกลดที่ป่าแห่งนี้ ท่านได้นั่งสมาธิ ในระหว่างนั้นมีผีสางนางไม้มารบกวนท่านอยู่มิได้ขาด ท่านได้เทศนาบอกกล่าว แล้วจิตวิญญาณเหล่านั้นก็หายไป คงเหลือแต่เม่งที่ไม่ยอมฟังท่านเลย มีการต่อสู้กันทางใน (สมาธิจิต) เป็นเวลานาน ในที่สุดตัวเม่งเป็นฝ่ายที่ยอมแพ้และยอมที่จะไม่รังแกสัตว์และมนุษย์อีก ต่อมาท่านก็ปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ท่านก็รู้ทางสมาธิจิตว่าที่นี่มีพระธาตุและสารีริกธาตุอยู่ในที่แห่งนี้ ท่านจึงอยู่ประจำและสร้างวัดขึ้นในที่แห่งนี้ และตั้งชื่อวัดว่า #วัดป่าพระธาตุอุปมุง ท่านได้พาชาวบ้านสร้างที่ประดิษสถานพระธาตุขึ้นใหม่จากแต่ก่อนเป็นอูปเหมือนเต่าถ่านและได้ต่อเติมให้สูงขึ้น โดยนำดินเหนียวจากหนองผำ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด โดยนำดินเหนียวมาปั้นบนพิมพ์สี่เหลี่ยม แกะพิมออกแล้วตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปเผาไฟอีกทีหนึ่ง เสร็จแล้วนำไปก่อเป็นสถูปเจดีย์ โดยใช้ยางโบ่ง (เป็นยางไม้ชนิดหนึ่งที่มีความเหนียวมาก) เพราะว่าในสมัยนั้นไม่มีปูนซีเมนต์ จึงเอายางไม้มาใช้แทน ท่านได้สร้างพระธาตุเพียงครึ่งองค์เท่านั้น ท่านก็มรณะเสียก่อน โดยท่านหลวงปู่สิงห์ทอง ได้กล่าวกับหลวงปู่ทองมา ก่อนจะมรณะว่า หากว่าเรา ตายไปแล้วนั้น ให้ท่านทองมา มาจำวัดอยู่ที่แห่งนี้เพื่อบูรณะองค์พระธาตุต่อให้เสร็จนะ (หลวงปู่สิงห์ทองเคยเป็นอาจารย์หลวงปู่ทองมา สมัยที่ท่านยังบวชเป็นสามเณรและเรื่อยมาจนเป็นภิกษุ) เมื่อหลวงปู่สิงห์ทองมรณะภาพลงแล้วนั้น หลวงปู่ทองมา ถาวโร จึงได้มาจำวัดอยู่ที่พระธาตุอุปมงต่อ

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘o-๒๔๙๕ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ องค์พระธาตุ โดยหลวงปู่ทองมา ถาวโร หลวงปู่ทองมาพร้อมทั้งชาวบ้านและญาติโยมได้สร้างสถูปครอบองค์พระธาตุจนสำเร็จ ว่ากันว่าสมัยตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ ข้างในจะเป็นโพรงสามารถเข้าไปกราบไหว้พระ ข้างในองค์พระธาตุได้ และในนั้นจะมีพระพุทธรูปซึ่งแกะสลักจากไม้ประมาณสิบกว่าองค์ รวมทั้งพระพุทธรูปทองเหลืองและหอกดาบสมัยเก่า (ปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่ในพระธาตุที่ปรักหักพังลงมาและทับโพรงนี้ไว้)

ประมาณในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่อหลวงปู่ ทองมา ถาวโร ย้ายไปอยู่บ้านเกิดที่ วัดสว่างท่าสี บ้านท่าสี ต.เกาะแก้ว อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด (ในสมัยนั้นปัจจุบันคือ อำเภอเสลภูมิ) เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ พระธาตุอุปมุงได้พังลงมาพร้อมกับพระธาตุพนม แต่พระธาตุพนมพังตอนกลางคืน ส่วนพระธาตุอุปมุงพังตอนกลางวัน เล่ากันว่าในคืนวันพระชาวบ้านจะเห็นแสงลอยออกจากพระธาตุไปทางทิศใต้ของวัดแสงนั้นมีลักษณะเป็นแสงสีขาวใส สวยงาม คล้อยแสงดาวหาง ในเวลากลางคืนช่วงที่เห็นมักจะเป็น ช่วงเวลา ๒ ทุ่ม ไปจนถึง ๓ ทุ่ม แสงที่ว่านี้จะลอยสูงจากพื้นดินประมาณ ๒-๓ ร้อย เมตร ลอยไปอย่างช้าๆ

ปัจจุบันวัดป่าพระธาตุอุปมง ยังมีให้เห็นและสามารถกราบนมัสการได้ แต่จะมีสภาพที่ทรุดตัว ทลาย เหมือนในรูป ส่วนหลวงปู่ทองมา ถาวโร หลังจากที่ท่านได้บูรณะพระธาตุอุปมงเป็นที่เรียบร้อย เสร็จสิ้น แล้ว ตามเจตนารมณ์ของพระอาจารย์สิงห์ทองที่ท่านสั่งไว้ ท่านก็เดินทางมาจำพรรษาที่ วัดสว่างท่าสี รวมเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าพระธาตุอุปมง ประมาณ ๑๕-๒o ปี ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้นท่านก็ได้โปรดชาวบ้านญาติโยมทั้งหลาย ให้อยู่ในศีล ในธรรม เทศนาเผยแพร่ธรรมะของพระพุทธเจ้าจนเป็นที่กล่าวขวัญมาจนถึงทุกวันนี้ สาธุการ

*******************************************************************************************

ตำนานวัดป่าวัดธาตุอุปมง กับหลวงปู่ทองมา ตอนหนึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวว่า 
หลวงปู่ทองมา เรียก ผี มาผูกไว้กับต้นมะม่วง

สมัยนั้นวัดป่าวัดธาตุอุปมงพอสิ้นหลวงปู่สิงห์ทอง ก็ได้มีหลวงปู่ทองมา มาจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้เป็นเวลาสิบว่าปี หลวงปู่สิงห์ทองผู้เป็นครูได้ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆให้หลวงทองมา ถาวโร ในหลายๆด้าน เมื่อหลวงปู่ทองมา มาจำพรรษาท่านก็ได้บูรณะพระธาตุอุปมงจนแล้วเสร็จ และได้โปรดวิญาณร้ายที่มารบกวนชาวบ้าน จนเป็นที่รู้จักกันดีของชาวบ้านในแคล้วนั้น ครั้งหนึ่งมีวิญาณร้ายตนหนึ่งเที่ยวมา รบกวนหลอกหลอนชาวบ้าน ทำร้ายชาวบ้าน จนชาวบ้านหวาดกลัว โดยไม่เกรงกลัวต่อพระธรรมและหลวงปู่ทองมาเลยแม้แต่น้อย หลวงปู่ทองมา ท่านจึงต้องกำราบบ้างให้เข็ดหลาบ คืนวันนั้นหลวงปู่ได้เรียก วิญญาณร้ายตนนั้น มาผูกติดกับต้นมะม่วงหน้าวัด เพราะวิญญาณตนนี้เฮี้ยนนัก พูดดีๆไม่ฟังมีแต่จะหลบหนี หลวงปู่จึงจำเป็นต้องมัดไว้กับต้นมะม่วง และก็ให้ผีตนนี้ดื่มน้ำสาบานตนว่า ต่อไปนี้จะเลิกรบกวนและเลิกทำร้าย ชาวบ้านอีกต่อไป พร้อมทั้งเทศนาให้ผีตนนี้ได้ถึงบาปกรรมต่างๆ พอเสร็จพิธีหลวงปู่ก็ปล่อยวิญญาณตนนี้ไป ...

ตอนนั้นผมยังเด็กประมาณ 7 ปี ผมได้ไปเข้ากรรม (ปฏิบัติธรรมที่เข้มงวด) ที่วัดพระธาตุอุปมงกับยายพอเข้ากรรมเสร็จแม่มารับผมกับยายประมาณตอน 5 ทุ่ม พอออกมาถึงทางเข้าวัดที่มีต้นมะม่วงใหญ่ ต้นมะม่วงมันสั่นผมดูแล้วไม่น่ามีใครมาสั่นเพราะมันดึกแล้ว แม้แต่ลมพัดก็ยังไม่มี ยายเลยพูดขึ้นมาลอยๆว่าไม่ต้องไปส่งหรอก รู้แล้ว ตอนนั้นผมยังคิดอยู่ว่าไม่เห็นมีใครมาส่งสักคนเลย 

หรืออาจเป็นไปได้ว่า ผีตน นั้นผิดคำสาบาน เลยถูกมัดจองจำอยู่แบบนั้นหรือปล่าว หรืออาจเป็นไปได้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เฝ้าบริเวณทางเข้าประตูวัดอาจจะทักทายและพลอยยินดีปรีดา ที่ผมกับยายได้มาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ สาธุ ถึงยังไงก็ตาม เรื่องราวของพระธาตุอุปมงหลวงปู่สิงห์ทองและหลวงปู่ทองมา ก็ยังคงเป็นเรื่องจริงของญาติโยมชาวบ้านที่นั้น และจะยังคงอยู่ในความศรัทธาเลื่อมใส ของชาวบ้านตลอดกาล สาธุ สาธุ สาธุ 

ขอบคุณสมาชิกที่มาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ณ โอกาสนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น